เทคโนโลยีกู้ชีพผู้ป่วยหัวใจวาย, AED, CPR

เทคโนโลยีกู้ชีพผู้ป่วยหัวใจวาย ป้องกันเสียชีวิต

CPR : STEP BY STEP

ขั้นตอนกู้ชีพด้วยการกดหน้าอก

คุณหมอไชยพรอธิบายว่า ให้ทำตามขั้นตอนดังนี้

  1. จัดท่าผู้ป่วย ให้นอนหงายราบบนพื้นแข็งโดยให้ผู้ช่วยเหลือนั่งคุกเข่าอยู่ด้านข้างของผู้ป่วย
  1. กรณีที่ทำซีพีอาร์ไม่เป็น สามารถใช้วิธีโทร.แจ้ง 1669 แล้วให้เจ้าหน้าที่บอกขั้นตอนการทำซีพีอาร์และลงมือทำตามคำอธิบายของเจ้าหน้าที่ไปได้เลย
  1. วางตำแหน่งมือ วางส้นมือข้างหนึ่งครึ่งล่างของกระดูกหน้าอกซึ่งเป็นกระดูกที่หนาที่สุด แล้ววางมืออีกข้างประสานกันไว้ แขนสองข้างเหยียดตรงให้แขนตั้งฉากกับหน้าอกผู้ป่วย
  1. กดหน้าอก โดยกดตรงกึ่งกลางหน้าอก (ไม่ใช่หน้าอกด้านซ้ายเพราะอาจทำให้ซี่โครงหักได้) ด้วยอัตรา 100 – 120 ครั้งต่อนาที โดยให้ส้นมือสัมผัสกับหน้าอกของผู้ป่วยตลอดเวลา ต้องกดลงให้ลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตรหรือ 2 นิ้วครึ่ง ตามจังหวะเพลง Sugar ของวง Maroon 5 ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกตัว หรือทำไปสัก 2 นาทีแล้วให้คนอื่นมาทำซีพีอาร์สลับกัน

ทั้งนี้คุณหมอไพโรจน์อธิบายว่า การกดหน้าอกนั้นต้องการให้น้ำหนักของการกดลงไปที่หัวใจเพื่อช่วยบีบเลือดออกมา ขณะที่ปล่อยมือขึ้น เลือดจะไหลเข้ามาในหัวใจ สาเหตุที่ต้องกดด้วยอัตรา 100 – 120 ต่อนาที เนื่องจากถ้าเร็วกว่านี้เลือดจะไหลเข้าหัวใจไม่ทัน ทำให้ปริมาณเลือดไม่มากพอที่จะไปเลี้ยงสมองได้ แต่ถ้ากดหัวใจด้วยอัตราที่ช้ากว่านี้ก็จะไม่ทันกาล

“การบีบไล่เลือดด้วยการกดหัวใจในอัตราสม่ำเสมอเช่นนี้ จะทำให้มีออกซิเจนขึ้นไปเลี้ยงเซลล์สมองระหว่างที่รอรถพยาบาลมาช่วยชีวิตในขั้นสูง เช่น ใส่ท่อช่วยหายใจ ให้น้ำเกลือ หรือให้ยาฉีดกระตุ้น หัวใจทางเส้นเลือดต่อไป

“ถ้าการกดหน้าอกได้ผล แม้เวลาจะผ่านไป 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะยังมีโอกาสรอดชีวิต แต่ถ้าไม่กดหัวใจภายใน 4 – 8 นาทีหลังหมดสติ เมื่อไม่มีเลือดไปเลี้ยงสมองและหัวใจ อวัยวะดังกล่าวก็จะขาดออกซิเจน ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ครับ”

เทคโนโลยีกู้ชีพผู้ป่วยหัวใจวาย, AED, CPR
BUCHAREST, ROMANIA – August 13, 2018: Paramedic from an ambulance push an empty stretcher

AED : STEP BY STEP

ขั้นตอนการใช้เครื่องเออีดี เทคโนโลยีกู้ชีพผู้ป่วยหัวใจวาย

คุณหมอไชยพรอธิบายว่า เมื่อได้เครื่องเออีดีมาแล้ว ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้

  1. ตรวจสอบก่อนติดเครื่องเออีดี ตรวจดูว่าไม่มีโลหะอยู่บนร่างกายผู้ป่วย เช่น ตะขอเสื้อชั้นใน ตะขอกางเกง กระดุมเสื้อ ถ้ามีต้องถอดออก กรณีที่ร่างกายผู้ป่วยเปียกน้ำต้องเช็ดให้แห้ง
  1. ติดเครื่องเออีดีที่ตัวผู้ป่วย เมื่อได้เครื่องเออีดีมาแล้วให้ติดแผ่นไฟฟ้าบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวาและชายโครงด้านซ้าย จากนั้นห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วย
  1. ปฏิบัติตามเครื่องเออีดี ปัจจุบันเครื่องเออีดีมีระบบอธิบายวิธีใช้งานด้วยเสียงภาษาไทย เมื่อติดแผ่นไฟฟ้าที่ตัวผู้ป่วยแล้ว เครื่องจะวิเคราะห์คลื่นหัวใจของผู้ป่วย หากเครื่องสั่งให้ช็อกไฟฟ้า ให้กดปุ่มช็อก จากนั้นให้ผู้ช่วยเหลือกดหน้าอกผู้ป่วยต่อทันที
  1. ถ้าเครื่องไม่สั่งให้ช็อกไฟฟ้า ให้กดหน้าอกต่อไปจนกว่าจะมีทีมกู้ชีพมาช่วยเหลือผู้ป่วยและนำส่งโรงพยาบาลต่อไป

จากนั้นคุณหมอไพโรจน์ได้อธิบายเสริมว่า

“เมื่อเปิดกล่องเครื่องเออีดีออกมา ตัวเครื่องจะบอกวิธีใช้ด้วยเสียงภาษาไทย ถ้าปฏิบัติตามขั้นตอนที่เครื่องแนะนำจะไม่เกิดอันตรายกับผู้ป่วย เพราะเครื่องจะตรวจคลื่นหัวใจก่อน ถ้าคลื่นหัวใจปกติ เครื่องจะไม่ช็อกไฟฟ้า ถ้าคลื่นหัวใจไม่มี เป็นเส้นเรียบ ๆเครื่องก็จะไม่ช็อกไฟฟ้าเช่นกันครับ

“การเต้นของหัวใจเกิดจากสัญญาณที่ออกมาจากสมองและระบบประสาท ทำให้เกิดการเต้นของหัวใจเป็นจังหวะ ถ้าสัญญาณนี้เสียไปจะทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ วิธีแก้คือระหว่างที่ยังไม่มีสัญญาณไฟฟ้ากลับคืนมาทำให้หัวใจเต้นตามปกติ ต้องรีบกดหัวใจร่วมกับการใช้เครื่องเออีดีกระตุกหัวใจให้สัญญาณไฟฟ้าหัวใจกลับคืนมา

“ถ้าใช้เครื่องเออีดีแล้วสัญญาณการเต้นของหัวใจกลับมาก็ไม่ต้องกดหัวใจต่อ แต่ถ้าใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าแล้วสัญญาณการเต้นของหัวใจไม่กลับมา ก็ต้องกดหัวใจต่อไปจนกว่ารถพยาบาลจะมารับตัวผู้ป่วย”

ทั้งนี้คุณหมอไพโรจน์ทิ้งท้ายว่า การช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินจำเป็นต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและฝึกฝนอยู่เสมอ จึงจะสามารถกู้ชีพผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย

อ่านหน้าถัดไป>> สังเกตุอาการก่อนทำ CPR กู้ชีพ

อ่านเพิ่มเติิม

คู่มือ โรคหัวใจ ป้องกันหอบเหนื่อยก่อนหัวใจวาย

เทคนิครับมือ 3 สัญญาณอันตรายก่อน หัวใจวาย

รู้ทันภาวะหัวใจวายของ พิศาล อัครเศรณี ความอันตรายที่ป้องกันได้

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.